งานวิจัยชี้…วิ่ง 1 ชั่วโมง อายุยืนขึ้น 7 ชั่วโมง!!

งานวิจัยชี้…วิ่ง  1 ชั่วโมง อายุยืนขึ้น 7 ชั่วโมง!!

ช่วงที่ผ่านมานี้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการวิ่งออกมามากมายครับ บ้างก็ว่าการวิ่งหักโหมเกินไปส่งผลเสียต่อหัวใจและทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งก็ได้รับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางล่ะครับ แถมยังทำให้จำนวนนักวิ่งที่เข้าเส้นชัยในงานวิ่งต่างๆ (Road Race Finisher) ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนลดลงอีกด้วยครับ โดยลดจาก  17 ล้านคนในปี 2015 เหลือ 16 ล้านคนในปี 2016 (เทียบกับช่วงพีคที่ 19ล้านคนในปี 2013)

แต่ล่าสุดมีข่าวดีของนักวิ่งครับ เพราะมีผลการวิจัยเรื่อง Running as a Key Lifestyle Medicine for Longevity ตีพิมพ์ในวารสาร Progress in Cardio Disease สนับสนุนการวิ่ง โดยถือว่าการวิ่งเป็น “กุญแจสำคัญ” ของวิถีชีวิตที่ทำให้อายุยืนยาว เลยล่ะครับ!!! โดยการศึกษาดังกล่าวรายงานว่าการวิ่งที่เหมาะสมส่งผลดีที่สุดกับสุขภาพทำให้อายุยืนขึ้นครับ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคืองานวิจัยชิ้นนี้วิเคราะห์ถึงขนาดว่าอายุจะยืนขึ้นเท่าไหร่เลยทีเดียวครับ

งานวิจัยสรุปว่าโดยทั่วไปแล้วนักวิ่งสามารถลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ถึง 25-40% และโดยเฉลี่ยแล้วมีอายุยืนกว่าคนที่ไม่วิ่งประมาณ 3 ปี ครับ กล่าวโดยสรุปแล้วพบว่าการวิ่งทุกๆ 1 ชั่วโมง ต่อชีวิตได้ประมาณ 7 ชั่วโมงเลยล่ะครับ (เป็นการลงทุนที่คุ้มจริงๆ 55) ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขเฉลี่ยจากการวิ่งประมาณอาทิตย์ละ 2.5 ชั่วโมงนะครับ ดังนั้นไม่ใช่ว่าเพื่อนๆที่วิ่งอาทิตย์ละ 100 km จะอายุยืนกันเป็นร้อยๆปีนะคร้าบบบบ (เป็นการเทียบตัวเลขลงมาให้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้นครับ) ที่น่าสนใจกว่านั้นนักวิจัยเค้าวิเคราะห์ผลของการวิ่งเทียบกับปัจจัยอื่นๆด้วยล่ะครับ ว่าอันไหนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่ากัน การทดลองศึกษาตัวอย่างกว่า 55,000 คน โดยพบว่าหากคนเลิกบุหรี่พร้อมกันหมดทันที พบว่าจะป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ถึงร้อยละ 11 ถ้าคนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานสามารถทำให้ BMI ลงมาน้อยกว่า 25 ได้ จะสามารถป้องกันได้ร้อยละ 8 ครับ ซึ่งก็พบว่าการวิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดเพราะกว่าร้อยละ 16 ของปัจจัยเสี่ยงจากการทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรคือการที่ไม่ได้วิ่งล่ะครับ

บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้วถ้าเทียบการวิ่งกับการออกกำลังกายประเภทอื่นล่ะ??? การศึกษาดังกล่าวทดสอบโดยแบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่มครับ

กลุ่ม 1 Inactive Non-Runners คือ กลุ่มคนที่ไม่วิ่งและไม่ออกกำลังกายอื่นด้วย (เกณฑ์ที่ใช้คือ 500 MET-min/week หรือเทียบเท่าการออกกำลังกายแบบหักโหมให้ได้อาทิตย์ละประมาณ 75 นาที ครับ)

กลุ่ม 2 Inactive Runners คือ กลุ่มคนที่วิ่งแต่ออกกำลังกายประเภทอื่นได้ไม่ถึง 500 MET-min/week

กลุ่ม 3 Active Non-Runners คือ  กลุ่มคนที่ออกกำลังกายอื่นๆแต่ไม่ได้วิ่งเลย

กลุ่ม 4 Active Runners คือกลุ่มคนที่ทั้งวิ่งและออกกำลังกายอื่นๆถึง 500 MET-min/week

ผลสรุปแน่นอนครับว่ากลุ่ม 4 (ทั้งวิ่งและออกกำลังกายอื่นๆ) มีแนวโน้มจะเสียชีวิตน้อยกว่าทุกกลุ่มโดยเมื่อเทียบกับกลุ่ม 1 ที่ไม่ได้วิ่งและไม่ได้ออกกำลังอย่างอื่นเลย พบว่ามีแนวโน้มจะเสียชีวิตน้อยกว่าถึง 43% เลยล่ะครับ แต่ที่น่าสนใจคือการเทียบกลุ่ม 2 (วิ่งแต่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างอื่น) กับ กลุ่ม 3 (ออกกำลังกายอย่างอื่นแต่ไม่ได้วิ่ง) พบว่ากลุ่มที่วิ่งแต่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างอื่น (กลุ่ม 2) มีแนวโน้มเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายอย่างอื่นแต่ไม่ได้วิ่ง (กลุ่ม 3) ล่ะครับ (เทียบ 0.70 ในกลุ่ม 2 กับ 0.88  ในกลุ่ม3)

 

ขอบคุณที่มา

Alex Hutchison, 1 Hour of Running Adds 7 Hours of Life, Runner’s World

 

เข้าสู่ระบบ

LINE LOGO SVG เข้าสู่ระบบด้วย LINE