ศาสตร์แห่งเทคนิครักษาตัว….จาก”การวิ่ง”
เพื่อนๆคงต้องมีอาการปวดเมื่อยกันบ้างหลังงานวิ่งผ่านไป บางคนอาจถึงกับเจ็บ ลุกไม่ไหวในวันรุ่งขึ้นกันเลยทีเดียว วันนี้แอดมินมีเทคนิคเล็กๆน้อยๆมานำเสนอให้เพื่อนๆลองใช้กันดูครับ บางเทคนิคก็มีผลพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ บางอันก็ยังไม่ได้รับการยืนยันแน่นอน แต่บอกต่อๆกันมาว่าใช้ได้ผลจริง ว่าแล้วลองไปดูกันเลยครับ
1. สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants)
การออกกำลังกายหนักๆมีผลทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (Reactive Oxygen Species) ซึ่งทำให้เซลล์ในร่างกายเราเสียหายได้ครับ งานวิจัยบางชิ้นจึงแนะนำให้เรารับประทานวิตามิน C ในช่วงอาทิตย์ก่อนและหลังงานวิ่งเพื่อให้ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันครับ แต่จริงๆแล้วพวกอนุมูลอิสระเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ร่างกายเราปรับตัว เพิ่มความฟิตหลังการออกกำลังกายนะครับ ดังนั้นทานมากไปก็ไม่ดีนะครับ กลายเป็นว่าร่างกายไม่จะรู้จักปรับตัวเพิ่มความฟิตกันพอดี
2.อาบน้ำเย็น
มีงานวิจัยมากมายครับ บ้างก็ว่าน้ำเย็นช่วยรักษาอาการบาดเจ็บ บ้างก็ว่าไม่ช่วย ข้อสรุปคือยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนครับ 55 แต่ที่ชัดๆคืออาบน้ำเย็นแล้วรู้สึกสบายครับ นักวิ่งต่างก็มีสูตรการอาบน้ำเย็นของตัวเองครับ Shona Halson หัวหน้าแผนก Recovery Performance ที่ Australian Institute of Sport แนะนำให้อาบน้ำเย็นอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศา ประมาณ 10 นาทีครับ
3.นวด
การนวดได้รับการพิสูจน์ว่ามีส่วนช่วยลดอาการบาดเจ็บหลังการออกกำลังกายได้ครับ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ยิ่งนวดหลังการออกกำลังกายเร็วเท่าไหร่ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้นครับ ดังนั้นถ้าเลือกได้รีบนวดทันทีหลังงานวิ่งดีกว่ารอวันสองวันแล้วหาโอกาสไปนวดนะครับ นอกจากนั้นพยายามหาสถานที่นวดที่มีความรู้เกี่ยวกับการรักษาอาการบาดเจ็บจะดีกว่าไปนวดผ่อนคลายธรรมดา
4.สวมใส่ผ้า Compression
เดี๋ยวนี้มักเห็นเพื่อนๆนักวิ่งหันมาใส่ผ้า Compression กันมากขึ้น (แอดมินลองใส่แล้ว…กลายเป็นแหนมเลยครับ 555) เพื่อนๆที่คิดว่าใส่แล้ววิ่งเร็วขึ้นอาจจะผิดหวังเล็กน้อยนะครับ เพราะยังค่อนข้างมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปว่า Compression ช่วยให้วิ่งเร็วขึ้น แต่ที่แน่ๆการใส่ Compression (ทั้งระหว่างและหลังออกกำลังกาย) ช่วยให้เพื่อนๆหายจากอาการบาดเจ็บได้เร็วขึ้นครับ พวกถุงเท้าที่รัดๆหน่อยก็ช่วยได้นะครับ เทคนิคคือพอวิ่งเสร็จกลับมาบ้าน หลังอาบน้ำ ให้รีบใส่ถุงเท้าไว้ประมาณชั่วโมงนึงครับ
5. วิ่งวอร์ม
การวิ่งวอร์มไม่ได้เป็นการรักษาอาการบาดเจ็บหรอกครับ แต่เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บต่างหาก มีผลการศึกษาของประเทศนอร์เวย์พบว่า การ Warm-up ประมาณ 20 นาที มีประสิทธิภาพในการลดอาการบาดเจ็บมากกว่า Cool-down 20 นาทีล่ะครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้อง Cool-down นะคร้าบบบ แค่เปรียบเทียบเฉยๆ จำไว้นะครับว่า การป้องกันอาการบาดเจ็บดีกว่าการรักษาอาการบาดเจ็บมากมายครับ ว่าแล้วก็อย่าลืม Warm-up & Cool-down กันนะครับ