โรคไขมันพอกตับ กับอาหารที่ควรกิน ควรเลี่ยง
ภาวะไขมันพอกตับเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในยุคนี้ พอ ๆ กับความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน และโรคเบาหวาน เนื่องจากโรคติดต่อไม่เรื้อรังดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่งของไขมันพอกตับ เช่นกัน ดังนั้นหากตรวจพบระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง ก็เสี่ยงที่จะมีภาวะไขมันเกาะตับอยู่มากนะคะ ทว่าเราสามารถดูแลตับของเราให้เป็นปกติได้ด้วยการเลือกรับประทาน มาดูกันว่าอาหารที่คนเป็นโรคไขมันพอกตับควรทาน และอาหารที่คนเป็นโรคไขมันเกาะตับควรเลี่ยง มีอะไรบ้าง
อาหารที่คนเป็นโรคไขมันพอกตับควรรับประทาน
1. ข้าวกล้อง ธัญพืช
ข้าวกล้องเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินบี กาบา และกรดโฟลิก ที่สำคัญในข้าวกล้องยังมีไฟเบอร์อยู่มาก ซึ่งไฟเบอร์จะมีส่วนช่วยดักจับไขมันและขับไขมันออกจากร่างกายก่อนร่างกายจะดูดซึมไขมันเอาไว้นั่นเอง
2. ผักใบเขียว
ถ้าพูดถึงอาหารที่มีไฟเบอร์สูงแล้ว ก็ต้องมีผักเป็นลิสต์อันดับต้น ๆ แต่สำหรับอาหารที่คนเป็นไขมันพอกตับควรรับประทานอย่างมากก็จะเป็นพวกผักใบเขียว อย่างกะหล่ำปลี ซึ่งจะช่วยเพิ่มกลูต้าไธโอน สารที่มีคุณสมบัติในการล้างพิษในตับได้
นอกจากนี้บรอกโคลี คะน้า ผักโขม และผักใบเขียวเกือบทุกชนิดยังมีส่วนช่วยป้องกันไขมันเกาะตับ และช่วยในการลดน้ำหนักซึ่งจะดีกับการทำงานของตับด้วยนะคะ
3. แครอต
นอกจากแครอตจะมีใยอาหารสูงแล้ว ผักชนิดนี้ยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระชนิดเบต้าแคโรทีน รวมไปถึงวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ดีต่อการทำงานของร่างกาย ช่วยบำรุงตับ บำรุงเลือด และช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร เสริมการทำงานของตับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
4. แตงโม
ผลไม้คลายร้อนอย่างแตงโมมีคุณสมบัติพิเศษที่ดีต่อตับในด้านช่วยลดอาการอักเสบ โดยในแตงโมมีทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ ไฟเบอร์ อย่าง ไลโคปีน และกรดอะมิโนอย่างโคลีนที่จะช่วยลดการดูดซึมไขมันในร่างกาย และลดโอกาสเกิดอาการอักเสบในเนื้อเยื่อต่าง ๆ อันเกิดจากอนุมูลอิสระในไขมันเลวได้
5. หน่อไม้ฝรั่ง
ผักที่มีสีเขียวอีกชนิดหนึ่งซึ่งนอกจากจะมีสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว ไฟเบอร์ในหน่อไม้ฝรั่งยังเป็นไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ จึงสามารถละลายไขมันชนิดเลวในร่างกาย และคงระดับไขมันชนิดดีในร่างกายไปพร้อม ๆ กัน นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระ ในหน่อไม้ฝรั่งยังช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อที่เกิดจากอนุมูลอิสระจากไขมันเลวได้ด้วยนะคะ
6. เต้าหู้
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Illinois ที่ศึกษาในหนูทดลองพบว่า โปรตีนจากถั่วเหลืองมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับได้
7. ไขมันดี
ไขมันเป็นสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับ โดยเฉพาะไขมันชนิดดีอย่างไขมันปลา ไขมันจากอะโวคาโด ไขมันจากเมล็ดธัญพืช อัลมอนด์ วอลนัท หรือน้ำมันมะกอก กรดไขมันดีเหล่านี้จะช่วยลดไขมันชนิดเลวในร่างกาย และเพิ่มปริมาณไขมันดีให้กับเรา – ไขมันดี ไขมันเลว อยากสุขภาพดีต้องรู้
8. กระเทียม
มีการศึกษาพบว่า ผงกระเทียมมีส่วนช่วยลดระดับไขมันเลวในผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับ อีกทั้งการรับประทานกระเทียมยังมีส่วนช่วยลดน้ำหนักได้อีกด้วย
9. กาแฟดำ
ผลการวิจัยจาก Annals of Hepatology ชี้ให้เห็นว่า กาแฟดำมีกรดโคลโรเจนิก (Chlorogenic) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการต้านอาการอักเสบ ทั้งยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและภาวะความดันโลหิตสูงได้ นอกจากนี้ยังพบว่า สารในกาแฟมีส่วนช่วยลดการสะสมไขมันในตับ ดังนั้นดื่มกาแฟดำทุกเช้าก็น่าจะมีประโยชน์ต่อร่างกายไม่เบาเลยล่ะ
อาหารที่คนเป็นไขมันพอกตับควรเลี่ยง
1. อาหารไขมันสูง
อย่างนม เนย กะทิ ชีส อาหารทะเล ไข่แดง ซึ่งมีแคลอรีสูงมาก รวมไปถึงอาหารทอด เบเกอรี เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ อาหารแปรรูปที่มีส่วนประกอบของไขมันสัตว์ เช่น ไส้กรอก กุนเชียง อาหารอะไรก็ตามที่มีไขมันสูงทุกชนิดควรเลี่ยง
2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มภาระให้ตับทำงานหนักมากขึ้น และแอลกอฮอล์ยังอาจเหนี่ยวนำการเกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และโรคตับอื่น ๆ ได้ด้วย
3. ลดคาร์โบไฮเดรต
อาหารประเภทแป้ง ข้าว หากร่างกายได้รับมาก ๆ และไม่ได้นำออกไปใช้เป็นพลังงาน ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลสะสมเหล่านี้เป็นไตรกลีเซอไรด์ เสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับมากขึ้น โดยเฉพาะในมื้อเย็นควรทานอาหารประเภทแป้งให้น้อยลง
4. น้ำอัดลม น้ำหวาน ชาเย็น กาแฟเย็น
น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ปั่น รวมทั้งชาเย็น กาแฟเย็นที่มีส่วนผสมของนมข้นหวาน ครีม เป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง หากกินมาก ๆ และไม่ได้ออกกำลังกาย ก็เสี่ยงต่อภาวะอ้วน มีน้ำหนักเกิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ตับมีไขมันมาเกาะได้ง่ายขึ้น
5. ขนมขบเคี้ยว
ขนมขบเคี้ยวก็ให้พลังงานสูง แถมยังมีโซเดียมมหาศาล แต่ให้สารอาหารที่มีประโยชน์น้อย ดังนั้นลด ละ เลิก ขนมขบเคี้ยวที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะอ้วนไว้จะดีกว่า
6. อาหารที่มีฟรุกโตสสูง
เช่น ขนมปัง ซีเรียล โยเกิร์ต ขนมแท่ง หรือพวกน้ำอัดลม เป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสค่อนข้างสูง ซึ่งจากข้อมูลวิจัยพบว่า สารฟรุกโตสมีผลให้ร่างกายสร้างไขมันไม่ดีเพิ่มมากขึ้น และยังอาจเหนี่ยวนำให้เกิดโรคเบาหวานได้ด้วย
อย่างไรก็ดี วิธีที่จะช่วยกำจัดไขมันในตับได้ดีอีกทางหนึ่งก็คือการออกกำลังกาย และหัวใจสำคัญคือการควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน หรืออย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วนนั่นเองนะคะ เพราะภาวะอ้วนเป็นจุดเสี่ยงให้เกิดโรคไขมันพอกตับ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ได้มาก ดังนั้นเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มหิดล ชาแนล
มูลนิธิตับแห่งประเทศไทย
โรงพยาบาลเปาโล
ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์