ประเภทการวิ่ง

1) ฟันรัน (Fun run) หรือที่เรียกกันว่า เดิน-วิ่ง เพื่อการกุศล สำหรับการแข่งขันวิ่งในบ้านเรา คือ การวิ่งระยะทาง 3.5 – 5 กิโลเมตร (2.17 – 3.11 ไมล์) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นออกกำลังกายใหม่ ๆ โดยส่วนใหญ่การวิ่งระยะนี้จะเหมาะเป็นการวิ่งแบบครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ทำให้ผู้วิ่งรู้สึกสนุกสนานเพราะระยะทางไม่ไกลเกินไป และมีเพื่อนร่วมเดินวิ่งจำนวนมาก
2) มินิมาราธอน (Mini marathon) สำหรับการแข่งขันวิ่งในบ้านเราจะมีความหมายโดยปริยายว่าเท่ากับ ควอเตอร์มาราธอน (Quarter marathon) หรือ หนึ่งในสี่ของมาราธอน (Marathon) คือ การวิ่งระยะทาง 10.5 กิโลเมตร หรือ 10.55 กิโลเมตร (6.56 ไมล์) เป็นระยะทางที่นักวิ่งเพื่อสุขภาพนิยมกันมาก เพราะระยะทางไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป เหมาะสำหรับการออกกำลังกายจริง ๆ อย่างไรก็ตาม นิยามของ “มินิมาราธอน” คำนี้มีความหมายกว้าง ๆ ว่า “การแข่งขันวิ่งระยะไกลที่ไม่ถึงมาราธอน” นั่นแสดงว่า “มินิมาราธอน” ไม่ได้แปลว่า “ควอเตอร์มาราธอน” เสมอไป โดยอาจหมายถึง ฮาล์ฟมาราธอน ควอเตอร์มาราธอน หรือระยะฟันรันที่อาจสั้นเพียง 5 กิโลเมตร ก็ได้ ดังนั้น ในการแข่งขันระดับสากล เราจึงมีโอกาสเห็นรายการวิ่งมินิมาราธอนที่ไม่ใช่ควอเตอร์มาราธอน เช่น Beirut mini-marathon ระยะวิ่ง 5 กิโลเมตร และ OneAmerica 500 Festival Mini-Marathon ระยะวิ่ง 21.1 กิโลเมตร (Half marathon) เป็นต้น และด้วยเหตุที่คำว่า “มินิมาราธอน” ไม่มีนิยามที่แน่ชัด ผู้จัดงานวิ่งมินิมาราธอนจึงควรระบุไปด้วยว่าจัดการแข่งขันกี่กิโลเมตร หรือ อาจใช้ k แทน เช่น การแข่งขันวิ่ง 5k 10k 15k เป็นต้น เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
3) ฮาล์ฟมาราธอน (Half marathon) คือ การวิ่งระยะทาง 21 กิโลเมตร หรือ 21.0975 กิโลเมตร (13.1 หรือ 13.11 ไมล์) หรืออาจเรียกว่าการแข่งวิ่งระยะ 21k หรือ 21.1k ก็ได้ ซึ่งเป็นระยะทางมาตรฐานที่จัดแข่งขันระดับนานาชาติทั่วโลก โดยเป็นอีกระยะทางหนึ่งที่นักวิ่งที่เคยผ่านการวิ่งหลาย ๆ สนามชื่นชอบ และผู้วิ่งควรผ่านการฝึกซ้อมมาพอสมควร เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในการแข่งขันจริง
4) มาราธอน (Marathon) คือ การวิ่งระยะทาง 42.195 กิโลเมตร (26.2 หรือ 26.219 ไมล์) หรืออาจเรียกว่าการแข่งวิ่งระยะ 42k หรือ 42.2k ก็ได้ ซึ่งเป็นระยะทางมาตรฐานที่จัดแข่งขันระดับนานาชาติทั่วโลก ในขณะนี้ในประเทศไทยมีเพียงงานวิ่ง”บางเเสน21″ ที่เป็นหนึ่งเดียวที่เป็นงานวิ่งระดับสากลที่มีตรารับรองจาก International Association of Athletics Federations (IAAF) โดยอยู่ในระดับ Bronze Label (ประกาศเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 และรับมอบรางวัลเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561) ถือได้ว่าเป็นงานวิ่งที่มีคุณภาพสูงระดับโลก เช่น ระบบการจัดการแข่งขัน ความปลอดภัยของนักวิ่ง ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การปิดการจราจร และการตรวจวัดสารกระตุ้น เป็นต้น ซึ่งนักวิ่งระยะนี้ก็จะมีทั้งนักวิ่งสมัครเล่น และนักวิ่งอาชีพ หรือนักวิ่งชั้นนำตัวเทพ ๆ ระดับอีลิท (Elite) มาร่วมการแข่งขัน ดังนั้น ผู้วิ่งควรฝึกฝนเตรียมความพร้อมให้ดีและควรผ่านการตรวจสุขภาพมาก่อน
5) อัลตร้ามาราธอน (Ultramarathon) คือ การวิ่งระยะทางมากกว่า 42.195 กิโลเมตร (มากกว่า 26.2 หรือ 26.219 ไมล์) เช่น Suanpruek 99 10 Hour Ultramarathon และ Chiang Mai Ultramarathon (ชื่อเดิม Doi Inthanon Ultramarathon) เป็นต้น สำหรับการแข่งขันวิ่งประเภทนี้ โดยทั่วไปนักวิ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แข็งแกร่งผ่านสนามวิ่งมาอย่างโชกโชน เพื่อพิสูจน์ความตั้งมั่นของจิตใจและความท้าทายขีดจำกัดของร่างกายให้ก้าวข้ามผ่านเส้นชัยให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ จึงถือเป็นการทดสอบสมรรถภาพที่ดีของนักวิ่งทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ โดยอาจมีการวิ่งเทรล (Trail Running) รวมอยู่กับการแข่งขันอัลตร้ามาราธอน (Ultramarathon) ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการจัดงานแข่งขัน เช่น Ultra-Trail Chiangrai (UTCR), Ultra-Trail Nan (UTN) และ Ultra-Trail Unseen Koh Chang (UTKC) เป็นต้น
สำหรับการแข่งขันวิ่งประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นการแข่งขันวิ่งในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความท้าทายมากขึ้น เช่น การวิ่งแบบผสมผสานชนิดกีฬา หรือการวิ่งผ่านพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น โดยจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อาทิเช่น
1) ไตรกีฬา (Triathlons) ประกอบด้วย 3 ส่วน การแข่งขันว่ายน้ำ (ประมาณ 1,500 เมตร) ปั่นจักรยาน (ประมาณ 40 กิโลเมตร) และวิ่งมาราธอน (ประมาณ 10 กิโลเมตร) จนถึงเส้นชัย ซึ่งเป็นระยะที่ใช้ในการแข่งโอลิมปิก ITU หรือการแข่งขันระดับชาติอื่น ๆ
2) การวิ่งข้ามทุ่ง (Cross Country Running) การแข่งขันที่วิ่งไปตามภูมิประเทศที่กำหนด อาจวิ่งบนเส้นทางวิบากเป็นเนินเขา ทางลาดเอียง ทุ่งหญ้า ลุยน้ำ ลุยโคลน เป็นต้น มักวิ่งระยะทาง 4–12 กิโลเมตร ทั้งนี้ ในต่างประเทศการแข่งขันส่วนใหญ่จะจัดช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว โดยมีทั้งแบบทีมและแบบเดี่ยว ซึ่งเหมาะกับนักวิ่งขาลุยและรักธรรมชาติ
3) การวิ่งเทรล (Trail Running) เป็นการผสมผสานระหว่างการวิ่งและการเดินเขา เป็นการวิ่งมาราธอนแนวลุย ๆ เช่นกัน เส้นทางวิ่งจะอยู่ในป่าเขาลำเนาไพรลัดเลาะตามเนินเขา บนพื้นกรวด พื้นทราย สูดอากาศธรรมชาติพร้อมชมวิวทิวทัศน์ตระการตา ระยะการแข่งขันในไทยเราแบ่งออกเป็นหลายระยะทาง ตั้งแต่ 15 กิโลเมตร 25 กิโลเมตร 50 กิโลเมตร และมากที่สุดคือ 100 กิโลเมตร สำหรับในประเทศไทยมีผู้สนใจและจัดแข่งขันวิ่งเทรลจำนวนมากขึ้น เช่น Khao Kho Trail, Maesalong Trail และ Kao Pratubchang Trail (KPTC Trail) เป็นต้น ดังนั้น หากใครที่เบื่อวิ่งมาราธอนตามใจกลางเมืองแล้ว อยากเปลี่ยนบรรยากาศเข้าหาธรรมชาติก็ต้องลองวิ่งเทรลดูสักครั้งในชีวิต

https://il.mahidol.ac.th/

เข้าสู่ระบบ

LINE LOGO SVG เข้าสู่ระบบด้วย LINE