สถานที่ท่องเที่ยว กระทุ่มแบน
วัดท่าไม้"วัดท่าไม้" หลายคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างเกี่ยวกับความศักสิทธิ์อันเลื่องชื่อของวัดนี้ ที่แม้แต่กระทั่งดาราดังอย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ, ญาญ่า อุรัสยา, อั้ม พัชราภา,มาริโอ้ ที่ต่างพากันไปทำบุญไหว้พระขอพร สักการะบูชา กันบ่อยๆ เชื่อกันว่าที่วัดแห่งนี้จะมีการทำบุญสะเดาะเคราะห์เสริมดวง โดดเด่นในเรื่องเมตตามหานิยม รวมไปถึงเรื่องของการดูดวงกับ "พระครูปลัดอุเทน สิริสาโร เจ้าอาวาสวัดท่าไม้"ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนส่วนใหญ่นิยมมาเช่นกัน
ชุมชนบ้านดอนไก่ดี
หมู่บ้านที่ขึ้นชื่อในการทำเครื่องเบญจรงค์ เดินทางไปจากอำเภอกระทุ่มแบน ใช้ถนนสุครธวิท วิ่งไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร ก็จะได้ละลานตากับความสวยงามของงานฝีมือวิจิตรบรรจงบนเครื่องกระเบื้อง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2525 กลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนมากเป็นกลุ่มลูกจ้างของโรงงานเสถียรภาพ หรือเรียกอีกชื่อว่าโรงชามไก่ จึงทำให้เกิดภูมิความรู้ และทักษะขั้นตอนการผลิตตลอดจนการเขียนเครื่องลายคราม แต่ต่อมาโรงงานได้ปิดกิจการทำให้กลุ่มลูกจ้างที่ทำงานต้องว่างงานจึงมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อที่จะผลิตถ้วยชามที่เป็นลายคราม เมื่อปริมาณความต้องการของตลาดมีมากขึ้น จึงมีการพัฒนารูปแบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดเครื่องเบญจรงค์มาจนทุกวันนี้
ตลาดน้ำหนองพะอง
ตลาดน้ำหนองพะอง ตั้งอยู่ริมคลองภาษีเจริญ ณ บริเวณวัดหนองพะอง ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เป็นอีกหนึ่งโครงการตลาดต้องชม ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และต้องถือว่าเป็นตลาดต้องชมแห่งแรก โดยตลาดน้ำแห่งนี้เกิดจากแนวคิดของผู้บริหารระดับท้องถิ่น ที่ต้องการให้มีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ และมีการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่สินค้าที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตของประชาชนในพื้นที่ เช่นผัก ผลไม้ขนมพื้นบ้าน ขนมโบราณ ที่นำมาวางขายมากกว่า 200ร้านค้าให้นักท่องเที่ยวทุกท่านได้เดินช็อป ชิม ชิว ได้อย่างเพลิดเพลินกันเลยทีเดียว
วัดนางสาว
วัดนางสาว ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าไม้ เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3091 ประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวเข้าซอยวัดนางสาว 2 ประมาณ 1 กิโลเมตร ประวัติความเป็นมาของวัดมีเรื่องเล่ากันว่า เมืองสาครบุรี คือ เมืองชายทะเลตอนใต้ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อเกิดสงครามในพม่าชาวไทยกลุ่มหนึ่งได้อพยพหนีมาตามริมแม่น้ำท่าจีน คนชราและผู้หญิงได้พากันไปหลบซ่อนในโบสถ์เก่า ต่อมาคนไทยได้ช่วยกันต่อสู้กับทหารพม่าจนได้รับชัยชนะ และผู้ที่อพยพมาได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนั้น
ในกลุ่มนี้มีสองพี่น้องที่เคยอาศัยโบสถ์หลบหนีภัย ทั้งสองมีความคิดที่จะบูรณะโบสถ์ใหม่ แต่พี่สาวเห็นว่าโบสถ์ทรุดโทรมมากจึงไปสร้างวัดใหม่แทน น้องสาวต้องการทำตามสัจจาธิษฐานของตนว่าถ้ารอดตายจะบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ จึงดำเนินการบูรณะจนเสร็จและตั้งชื่อว่า วัดพรหมจารีย์ ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า วัดน้องสาว จนปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น วัดนางสาว
วัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง
ตั้งอยู่เลขที่ 44 หมู่ที่ 12 ถนนเพชรเกษม ตำบลเทศบาลเมืองอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
ปูชนียวัตถุ วัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง มีหลวงพ่อพักต์เป็นพระประจำวัด มีคนทั้งในหมู่บ้านและมาจากที่อื่นได้ทำการสักการบูชากราบไหว้เป็นประจำ และมีงานนมัสการในวันที่ 1 – 5 พฤษภาคม ของทุกปี
การเดินทาง อยู่ตรงข้ามกับสำนักงานเทศบาลนครอ้อมน้อย ซอยเพชรเกษม 87
ตลาดน้ำดอนหวาย
แหล่งของกินอร่อย ๆ และของใช้ให้เลือกซื้อหามากมาย ท่ามกลางเสน่ห์และวิถีชีวิตของชาวบ้านแบบชิล ๆ ตลาดน้ำดอนหวาย จังหวัดนครปฐม เป็นอีกหนึ่งตลาดน้ำน่าเดินสำหรับนักชิม นักช้อป และนักแชร์ทั้งหลายไม่ควรพลาด เพราะนอกจากที่นี่จะเต็มไปด้วยอาหารอร่อยแบบจัดเต็มแล้ว ยังมีสินค้าให้เลือกอีกมาก เผลอ ๆ มองดูเงินในกระเป๋าอีกที อาจหมดไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว วันนี้สบโอกาส เราจะพาเพื่อน ๆ เดินทัวร์ตลาดน้ำแห่งนี้กัน ไปง่าย เดินทางสะดวก แถมของกินเพียบแบบนี้ ไม่ไปไม่ได้แล้ว
วัดไร่ขิง
วัดไร่ขิง พระอารามหลวง เป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดี นิยมเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงกันอยู่เสมอ ทุกวันอาทิตย์จะมีตลาดนัดอาหารและผลไม้จำหน่ายหน้าวัด และที่บริเวณริมแม่น้ำหน้าโบสถ์จะมีชาวสวนพายเรือนำพืชผักผลไม้มาจำหน่าย และบริเวณริมแม่น้ำหน้าโบสถ์นี้เป็นเขตอภัยทาน ร่มรื่น มีปลาสวายตัวโตนับพันอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อขนมปังเลี้ยงปลาได้ และยังมีก๋วยเตี๋ยวเรือ รสเลิศขายทุกวัน นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ของเก่า รวบรวมของเก่าเช่นถ้วยชาม หนังสือเก่า ซึ่งชาวบ้านนำมาถวายวัดจัดแสดงไว้ มีบ้านดินอินทณัฐซึ่งสร้างจากดินเหนียวซึ่งภายในเล่าถึงพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า มีบ่อปลาคาร์ฟให้ผู้ที่มาทำบุญได้ให้อาหารด้วยขวดนม มีจุดพักผ่อนหย่อนใจที่สวยงาม และในระหว่างวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 3 ค่ำเดือน 5 ของทุกปี ทางวัดไร่ขิงจะจัดงานนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้น มีการออกร้านและมหรสพมากมาย
สวนนกยูงสามพราน
“สวนนกยูงสามพราน” ตั้งอยู่ที่88 ซอยวัดเทียนดัด ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม 73110 เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อ ปีพ.ศ.2555 มีวัตถุประสงค์เพาะพันธุ์นกยูงสายพันธุ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นนกยูงไทยหรือนกยูงอินเดีย หลังจากนั้นมีผู้สนใจเข้าชมจำนวนมาก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสวนนกยูงสามพรานแห่งนี้สวนนกยูงสามพรานนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่มีความสวยงามและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายในสวนมีนกยูงอินเดียที่สวยงามมากกว่า 1,000 ตัว นอกจากจะมีนกยูงแล้ว ยังมีสัตว์ให้เยี่ยมชมอื่นๆอีกมากมาย อาทิเช่น นกยูง, กวางดาว แกะ ปลาคาร์ฟ และสัตว์ปีกประเภทอื่น ๆ โดยนักท่องเที่ยวสามารถซื้ออาหารซึ่งเป็นขนมปัง สัตว์ทุกตัวสามารถกินได้เพราะทางสวนสัตว์เลี้ยงสัตว์ด้วยขนมปังและผู้ที่มาท่องเที่ยวยังได้สัมผัสกับสัตว์ต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิดรวมถึงยังมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นธรรมชาติเหมาะแก่การถ่ายรูปได้เป็นอย่างดี
สวนสามพราน
สวนสามพราน หรือชื่อใหม่ว่า สามพรานริเวอร์ไซด์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนหย่อนใจและวัฒนธรรม ที่รู้จักกันดีในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติมายาวนานถึง 50 ปี ในหมู่ฝรั่งมักนิยมพูดกันปากต่อปากว่า โรสการ์เด้น สวนสามพรานตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ภายในประกอบด้วยสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านไทย ที่มีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย ซึ่งนับวันก็หาชมยากขึ้นทุกทีๆ การแสดงที่สวนสามพรานนับว่าเป็นการแสดงที่ยังคงอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมไทยหลากหลายรูปแบบได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากการแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย ภายในหมู่บ้านไทยยังจัด Workshop ให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองมาทำกิจกรรมต่างๆได้จริง อาทิ ร้อยมาลัย เครื่องปั้นดินเผา จักสานไทย การละเล่นไทย ดนตรีไทย ศิลปะการต่อสู้แบบไทย ฯ
วัดสามพราน (พุทโธภาวนา)
วัดสามพราน (พุทโธภาวนา) ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๓๙ ไร่ ๓ งาน ๕๒ ตารางวา ปัจจุบันมี พระครูปฐมวรวัฒน์ (ดร.พระมหาทองศรี เอกวังโส )ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ตั้งอยู่ในเขตตำบลสามพราน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมมูลเหตุที่ทำ ให้มีการสร้างวัดนี้ขึ้นนั้น มาจากแนวความคิดของ นางสาวสุดาภรณ์ ชุ้นสามพราน ซึ่งเป็นผู้มีจิตอันประกอบด้วยความศรัทธามั่นคงในบวรพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะมีความสนใจในการปฏิบัติธรรม และกิจกรรมต่างๆของคณะสงฆ์ไทยซึ่งดำเนินการโดยพระอาจารย์จำลอง กิตติปญโญ วัดนาคปรก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร จึงได้ถวายความอุปถัมภ์ในการปฏิบัติธรรม และกิจกรรมต่างๆตลอดมา ต่อมานางสาวสุดาภรณ์ ชุ้นสามพราน พร้อมทั้งคณะญาติมิตรพิจารณาเห็นว่า ในท้องที่เขตอำเภอสามพราน มีประชาชนเป็นจำนวนมากสนใจในการปฏิบัติธรรม แต่ยังไม่มีสถานที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรม จึงได้ถวายที่ดินจำนวน ๕ ไร่ ๓ งาน ๕๒ ตารางวา เพื่อจัดตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรม จากนั้นคณะกรรมการมีพระอาจารย์จำลอง กิตติปญโญ นายสุธน จุลสิทธิโสภา นางสาวสุดาภรณ์ นางสาวสุวิมล ชุ้นสามพราน เป็นต้น ร่วมกับท่านสาธุชนทั้งหลาย ได้ร่วมกันสร้างที่พำนักสงฆ์ และสถานที่ปฏิบัติธรรมโดยใช้ชื่อครั้งแรกว่า “สำนักสงฆ์พุทโธภาวนา ชุ้นสามพราน” ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ เป็นต้นมา