1. ไม่ทานอาหารที่ให้พลังงานก่อนออกกำลังกาย
บางคนบ้าออกกำลังกายมาก เพื่อให้รูปร่างเล็กลง น้ำหนักลดลง จึงพยายามควบคุมปริมาณอาหารที่ทานเข้าไป และไปออกกำลังกายหนักๆ ด้วยเข้าใจว่าจะ “เบิร์น” เอาพลังงานที่ทานเกินเข้าไปออกให้หมด แต่ทราบหรือไม่ว่า หากไม่ทานอาหารที่ให้พลังงานกับร่างกายเลย แล้วไปออกกำลังกายหนักๆ นอกจากจะมีสิทธิ์เป็นลมเป็นแล้งไปได้แล้ว ยังอาจเสี่ยงเป็นโรคขาดสารอาหารในระยะยาวอีกด้วย และบอกได้เลยว่าร่างกายรวนแน่ๆ
เพราะฉะนั้นทานอาหารให้หลากหลาย ทานอาหารให้ครบทุกหมู่ เพียงแต่จำกัดปริมาณให้ดี แล้วค่อยออกกำลังกายดีกว่าค่ะ
2. ออกกำลังกายท่าเดียว
เคยเห็นคนที่ไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส แล้วเอาแต่ยกเวทหรือเปล่าคะ หากเขาลุกไปเล่นเครื่องออกกำลังกายอื่นๆ ด้วยก็ดีไป แต่ถ้าเห็นเขาเล่นแต่แขนอย่างเดียว หรือกล้ามเนื้อท้องอย่างเดียว ต้องเตือนเขาแล้วล่ะ เพราะการออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของร่างกายอย่างแท้จริง ต้องออกกำลังกายให้ได้ทุกส่วน ทั้งแขน ขา หน้าท้อง สะโพก หรือส่วนอื่นๆ ด้วย ถ้าหน้าท้องมีซิกแพค แต่แขนขาไม่เฟิร์มก็คงแปลกๆ ดังนั้นพยายามออกกำลังกายให้ครบทุกส่วนนะคะ
3. คาร์ดิโอมากเกินไป
มีอีกบางจำพวกที่เอาแต่วิ่งๆ กระโดดๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน กระตุ้นให้ร่างกายเหนื่อยหอบ หัวใจเต้นอยู่ตลอดเวลา หากเล่นคาร์ดิโอเพื่อเบิร์นหนักๆ ร่างกายจะเริ่มปรับตัวให้คุ้นชินกับการเบิร์นในแบบนั้น จากที่เคยใช้เวลา 30 นาที เพื่อเบิร์น 200 กิโลแคลอรี่ หากร่างกายปรับตัวเมื่อไร เราอาจจะวิ่งได้นานขึ้น เหนื่อยน้อยลง แต่เผาผลาญพลังงานเท่าเดิม ดังนั้น เราควรออกกำลังกายแบบอื่นๆ สลับกันไปเรื่อยๆ อย่าให้ร่างกายคุ้นชินกับคาร์ดิโอมากเกินไป
4. ไม่วอร์มอัพ-คูลดาวน์
หลายคนไม่เห็นความสำคัญของการวอร์มร่างกายก่อนออกกำลังกาย และลืมที่จะคูลดาวน์หลังออกกำลังกายด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าทั้งสองอย่างนี้มีความสำคัญต่อร่างกายมากๆ เพราะการวอร์มอัพ และคูลดาวน์เป็นการช่วยลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ดี นอกจากนี้ยังเป็นการวอร์มกล้ามเนื้อหัวใจ ให้เต้นเป็นจังหวะ ไม่เร่งเร้าการสูบฉีดโลหิตมากเกินไป ลดอาการเหนื่อยหอบอย่างเฉียบพลัน หรือหน้ามืดจากการออกกำลังกายได้มากขึ้นอีกด้วย
5. นับแคลอรี่เป็นบ้าเป็นหลัง
จะกินอะไรก็นั่งนับอย่างละเอียด หยิบเครื่องคิดเลขมานั่งกดๆ เกินไป 10 กิโลแคลอรี่ก็จะไม่กิน แบบนี้เรียกว่าเคร่งครัดเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตได้ในภายหลัง ทางที่ดีควรทานอย่างระมัดระวัง ทานพออิ่ม เลือกประเภทของอาหารที่ทาน มีสติว่าวันนี้ทานอะไรไปบ้าง ควรหรือไม่ควรทานต่อ แล้วออกกำลังกายตามปกติ ทำเป็นประจำทุกวัน เท่านี้ก็ไม่ต้องนับแคลอรี่ให้วุ่นวาย นอกจากจำนวนแคลอรี่จะไม่ได้เท่ากันทุกจาน ทุกมื้ออย่างที่เข้าใจแล้ว หากกลางวันทานเยอะแล้ว แก้ปัญหาด้วยการไม่ทานอาหารเย็นเลย ก็อาจเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะในอนาคตได้
www.sanook.com